กลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชน บ้านจอมทอง

07-02resized

บ้านจอมทอง หรือชื่อเดิม บ้านหัวขัว หมู่ที่ 5 เป็นหมู่บ้านใหม่ ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากฝั่งของเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ เป็นหมู่บ้านที่มีปัญหาเรื่องน้ำอยู่ตลอด คือหากไม่แล้งจนสุดขั้ว ก็ท่วมจนสุดใจ จนชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องให้เกิดการเยียวยาปัญหา ตลอดจนเกิดระบบบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ขึ้น เพื่อช่วยให้ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้

อัมพร พิลาวรรณ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ย้อนประวัติชุมชนที่นี่ให้ฟังว่า เมื่อราวปี 2507 ชาวร้อยเอ็ดกลุ่มหนึ่งได้อพยพหนีน้ำท่วมมายังตำบลเหล่าใหญ่ ด้วยน้ำใจไมตรีของคนภูไทจึงสละพื้นที่หัวไร่ปลายนาส่วนหนึ่งมาให้ตั้งถิ่นฐาน บางคนก็ขายพื้นที่ให้ในราคาถูก มาภายหลังจึงมีคนจากอำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม และจากอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมาเข้ามาสมทบ และรวมตัวกันสร้างเป็นหมู่บ้านขึ้นมา

ทว่าด้วยสภาพปัญหาพื้นที่ซึ่งเป็นที่ดอน ทำให้ไม่สามารถทำไร่ หรือทำนาได้ดี เพราะเป็นที่แล้ง ชาวบ้านที่นี่จึงอยู่กันอย่างอัตคัด แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำในเวลานั้นคือ บุญทัน เดชศิริ ผู้ใหญ่บ้านลำดับที่ 2 ได้ไปศึกษาดูงานที่เพชรบูรณ์บ้าง ร้อยเอ็ดบ้าง ก็พบว่าแต่ละแห่งใช้เครื่องสูบน้ำ จึงทำเรื่องขอไปยังกรมชลประทาน เพื่อสูบน้ำจากที่ลุ่มขึ้นมาที่ดอน จนในปี 2529 กรมชลประทานก็ให้เครื่องสูบแบบใช้น้ำมันดีเซล ขนาด 8 นิ้ว มา 1 เครื่อง ในส่วนของน้ำมันให้ไปเติมที่สาขาของกรมชลประทาน ซึ่งอยู่ในตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยใช้เดือนละ 4 ถัง คิดเป็นปริมาณ 800 ลิตร

ขณะเดียวกันทางผู้ใหญ่บุญทันได้รวมกลุ่มชาวบ้านประมาณ 50-60 ครัวเรือน ให้ช่วยสละที่ดินของตัวเองเล็กน้อย เพื่อขุดคลองดิน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 1.5 กิโลเมตร และลึกอีก 1.5 เมตร โดยชาวบ้านทุกคนที่อยากได้น้ำต้องช่วยกันขุด ไม่มีค่าจ้าง จึงปรากฏคลองส่งน้ำสายแรกในพื้นที่ขึ้น

หมู่บ้านดำเนินการสูบน้ำแบบนี้อยู่หลายปี แต่ทำอย่างไรก็ไม่พอใช้ ในปี 2538 สมัยของผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 ปั่น จำนงพันธุ์ ได้ไปดูงานที่อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ไปเห็นเครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีประสิทธิภาพกว่าเครื่องใช้น้ำมันมาก ไม่ยุ่งยากเท่าเครื่องแบบใช้น้ำมันด้วย จึงกลับมาปรึกษากับสมาชิกผู้ใช้น้ำซึ่งเริ่มขยายตัวเป็น 70 ครัวเรือนว่ามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ที่ประชุมเห็นชอบกับเครื่องสูบน้ำแบบใหม่ เลยประสานงานไปทางกรมชลประทาน และในขณะเดียวกันก็ติดต่อไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกาฬสินธุ์ คือ ชิงชัย มงคลธรรม ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ เพื่อให้เรื่องนี้สามารถขับเคลื่อนได้รวดเร็วขึ้น

ต่อมากรมชลประทานได้เสนอความคิดว่าต้องทำคลองส่งน้ำใหม่ด้วย คือทำเป็นคลองปูนคอนกรีต ขยายความยาวเป็น 2.5 กิโลเมตร ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้านปั่นให้ลูกหลานที่ไปศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วยออกแบบให้ พร้อมกับส่งแบบไปที่กรมชลประทาน โดยตั้งงบก่อสร้างไว้ที่ 130 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างราว 1 ปีก็เสร็จ ครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 4, 5, 6 และ 10 ซึ่งต่อมาได้ขยายความยาวไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร โดยมีสถานีสูบน้ำตั้งอยู่ที่บ้านจอมทองคอยสูบน้ำจากลำพะยัง

หลังสร้างคลองเสร็จ ทางกรมชลประทานก็คืนสิทธิ์การบริหารจัดการให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแล มีการตั้งประธาน กรรมการ โดยมีตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ รวมอย่างน้อย 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน มีการวางกฎระเบียบ

“ค่าสมัครเป็นผู้ใช้น้ำ 100 บาท รับสิทธิ์ตลอดชีพ โดยการสูบน้ำครั้งหนึ่งคิดค่าไฟชั่วโมงละ 50 บาท และถ้าใครจะขอใช้น้ำต้องมาทำเรื่องขอสูบให้เรียบร้อยก่อนว่าใช้เวลาไหน เพื่อจะได้เปิดเครื่องสูบน้ำ และกรณีที่ใครฝ่าฝืนแอบลักลอบสูบน้ำ ครั้งแรกจะถูกตักเตือนและต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 250 บาท และครั้งที่ 2 กรรมการจะปิดประตูน้ำจุดนั้น หากอยากใช้ต้องมาสมัครใหม่ ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาว่าให้หรือไม่” ผู้ใหญ่อัมพรเล่า

คลองส่งน้ำมีการติดตั้งประตูน้ำเอาไว้เป็นระยะๆ มีประมาณ 50 จุด ส่วนใหญ่จะต่อตรงเข้ากับแปลงนาของแต่ละคน เปิดน้ำเพียงไม่ถึงชั่วโมง น้ำก็ไหลท่วมที่นาทันที ซึ่งทำให้สังเกตได้ว่าใครแอบลักลอบสูบน้ำหรือไม่ และในกรณีที่แปลงไหนไม่มีประตูน้ำตรง ก็ให้ใช้ประตูร่วมกับแปลงข้างๆ และสมาชิกที่ใช้น้ำในวันนั้น ห้ามขุดคันคลองปิดประตูน้ำเด็ดขาด โดยวันหนึ่งกรรมการจะเปิดเครื่องสูบน้ำไม่เกิน 10 ชั่วโมง เพื่อรักษาอายุการใช้งาน

ในแต่ละปีจะมีการจัดประชุมใหญ่อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อแจ้งผลการดำเนินงาน เช่น เสียค่าไฟไปเท่าไร เหลือเงินเข้ากองกลางเท่าไร ซึ่งตามปกติแล้วค่าไฟฟ้าที่สมาชิกสมทบนั้นไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่แล้ว แต่ด้วยข้อตกลงกับหน่วยงานเจ้าของเดิม กรมชลประทานจึงรับผิดชอบค่าไฟฟ้าบางส่วนให้ ต่อมาได้โอนคลองส่งน้ำให้เป็นของเทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ หน้าที่รับผิดชอบดังกล่าว ก็เป็นของเทศบาลแทน ทำให้กลุ่มมีเงินเหลือพอจะไปซ่อมอุปกรณ์บางอย่างที่เสียหายได้

อีกเรื่องที่สำคัญมาก คือวันพัฒนาคลอง สมาชิกทุกคนต้องมาร่วมกันทำโดยไม่มีค่าแรง ใครไม่มาเสียค่าปรับตามค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าไม่เสียก็ไม่มีสิทธิ์ใช้น้ำในปีนั้น และในกรณีที่จุดใดจุดหนึ่งของคลองส่งน้ำเกิดชำรุดขึ้น พนักงานสูบน้ำซึ่งเป็นพนักงานของเทศบาลจะทำการปิดคลองไว้ก่อน เพื่อให้ช่วยกันแก้ไข

นอกจากคลองสูบน้ำแล้ว ที่นี่ยังมีการทำฝายกั้นน้ำไว้ด้วยในปี 2543 เพราะช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำจากลำพะยังจะท่วมทุ่งนาไปหมด จึงต้องสร้างฝายเพื่อเก็บกักน้ำทั้งฤดูแล้งและฤดูฝน ถือเป็นการบริหารงานน้ำแบบครบวงจรจริงๆ

ปัจจุบันนี้ สมาชิกของกลุ่มบริหารจัดการน้ำมีอยู่ร่วม 80 ครัวเรือน และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้นตามความยาวของคลองส่งน้ำ โดยคลองช่วงหลังๆ จะเป็นคลองคันดินแล้ว แต่ก็มีการวางระบบไว้เหมือนกัน จึงทำให้การบริหารงานเป็นในบรรทัดฐานเดียวกัน…