สสส.ร่วมลงนาม MOU 11 อปท. ในจังหวัดสตูล ร่วมขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่การรู้รับปรับตัว พัฒนาเครือข่ายให้เป็นพื้นที่ต้นแบบจัดการตนเอง

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล จัดเวทีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ (MOU) ภายใต้โครงการร่วมสร้างเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่การรู้รับปรับตัว โดยมีนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่  นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคใต้ และนางสาวนิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3 ) พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสตูล จำนวน 11 แห่ง เข้าร่วม MOU เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่การรู้รับปรับตัว

นายณัฐพงศ์  ศิริชนะ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคใต้  กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาวะชุมชนเพื่อการรู้รับปรับตัว ว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตมรสุม หลังวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งหากไม่รีบปรับตัว ก็จะเป็นไปตามทฤษฎีกบต้ม

“ปัญหาภายในประเทศเรากำลังเป็นกบที่โดนต้มโดยไม่รู้ตัวจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและภายนอกซึ่งจะเป็นเหมือนฟืนดุ้นใหญ่ที่จะทำให้น้ำค่อย ๆ เดือดขึ้น ถ้าเราไม่รู้รับปรับตัว ไม่เปลี่ยนตัวเอง เราจะเตรียมตัวไม่ทัน ถ้าเราวางแผนการเล่นดีเราก็จะชนะ ฉะนั้นคนไทยต้องรีบปรับตัว เพื่อให้สามารถรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้”


นอกจากนี้นายณัฐพงศ์ ยังกล่าวถึงกระบวนการของชุมชนที่ก่อให้เกิดการปรับตัวและตั้งรับ ได้นั้นจะต้อง มีการประเมินความเสี่ยง  สร้างการมีส่วนร่วมและการเชื่อมประสานกันในชุมชน ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถของบุคคล กลุ่ม องค์กร หน่วยงาน รวมถึงการเผชิญหน้า ปรับตัว และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง และมีการใช้ความรู้และบทเรียนของการปรับตัวและตั้งรับ ส่วน สสส.ที่มาช่วยท้องถิ่นทำงาน สสส.จะให้เสรีภาพทางความคิด ให้ท้องถิ่นทำงานบนฐานความรู้ ใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ หาสาเหตุของปัญหาและจัดการด้วยตัวท้องถิ่นเอง ทำเพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

ด้านนายสมพร ใช้บางยาง  ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่  กล่าวว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ยึดมั่นในอุดมการณ์เพื่อสร้างสุขภาวะชุมชน ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชา ได้แก่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ระเบิดจากข้างใน” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  โดยการให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลทุนทางสังคม และศักยภาพของชุมชนในการรวมพลัง เรียนรู้ พัฒนางานและกิจกรรมเพื่อการจัดการตนเอง ด้วยการรู้จักคิด วิเคราะห์ ใช้เหตุใช้ผล ในการพัฒนา รวมถึงบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

“การเข้ามาสนับสนุนของ สสส. เราหวังว่า อย่างน้อยทั้ง 11 อปท.จะกลายเป็นต้นแบบรู้รับปรับตัว จัดการตนเองได้ จัดการปัญหาตามบริบทของพื้นที่ และขยายครือข่ายให้เต็มพื้นที่จังหวัดสตูล ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะฐานรากของประเทศที่แท้จริงคือชุมชน เมื่อฐานรากเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้ จะทำให้บ้านเมืองในภาพรวมและประเทศไทยอยู่รอดมั่นคงและยั่งยืน” นายสมพร กล่าว

 

ทั้งนี้แนวทางการขับเคลื่อนโครงการร่วมสร้างเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่การรู้รับปรับตัว สอดคล้องกับแผน  10 ปี สสส.ที่มีพันธกิจ จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลังบุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถ และสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#สสส

#ชุมชนเข้มแข็ง

#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับปรับตัว