ผ่านไปแล้วในวันแรกของเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม 2565 โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และสำนัก 3 หรือสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน มีเป้าประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปบทเรียนการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนด้วยทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นสู่การบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพ
บรรยากาศโดยทั่วไปของวานนี้ (7 ก.ค.) มีแต่ความสมานฉันท์ อบอวลไปด้วยสาระและความรู้ทั่วทั้งห้อง Royal Jubilee ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 2,500 คนต่างจดจ่อกับวิชาการหลากหลายหัวข้อที่อัดแน่นอยู่ในทุกห้องของอาคารชาเลนเจอร์
เรียกได้ว่าใครมาร่วมงานนี้ จะต้องกลับไปพร้อมความรู้และประสบการณ์ เพื่อนำไปต่อยอด สร้างสรรค์ ให้ชุมชนของตัวเองน่าอยู่ยิ่งขึ้น
คึกคักกันตั้งแต่เช้า – เมื่อพี่น้องเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ทยอยเข้าไปลงทะเบียนหน้าห้องจูบิลีตั้งแต่ก่อน 08.00 น. ทำให้บรรยากาศค่อนข้างแออัดจอแจ แต่ทุกคนก็ปฏิบัติตัวตามมาตรการเพื่อลดการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด-19 คือสวมหน้ากากอนามัย ไม่อยู่ใกล้ชิดกันเกินไปนัก และมีบางองค์กรผ่านการตรวจ Antigen Test มาแล้วด้วย
อลังการ – ความประทับใจหนึ่งของเวทีสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ในปีนี้ คือการแสดงบนเวทีอันตระการตาและเข้าถึงกระบวนการทำงานของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้เป็นอย่างดี โดยการแสดงชุดนี้ควบคุมโดยคุณศุภวัฒน์ จงศิริ หรือ ศุภักษร ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังและนักสร้างสรรค์งานเวทีระดับนานาชาติ และที่น่าทึ่งยิ่งกว่า คือนักแสดงบนเวทีทุกคน ล้วนสมัครเล่น เพราะเป็นพี่น้องในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ทั้งหมด
“13 ปีของแผนสุขภาพวะชุมชน มีจุดเริ่มต้นที่เรียกได้ว่า set zero คือเริ่มจากศูนย์ โดยเริ่มจากคิดรูปแบบ ว่าจะบริหารจัดการพื้นที่อย่างไรที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้
ส่วนคำว่า “ชุมชนท้องถิ่น” ก็ยึดเอาตำบลเป็นหลัก ด้วยเหตุที่ตำบลนั้น มีขอบเขตการปกครองแน่นอน มีองค์กรบริหารชัดเจน คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีระบบปกครองท้องที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีส่วนราชการต่างๆ ไปตั้งอยู่ในตำบลนั้น
เราจึงคิดเรื่องระบบบูรณาการ ว่าถ้าเรารวมพลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมพลังในส่วนที่เรียกว่าท้องที่ รวมส่วนราชการเข้าไปด้วย รวมทั้งพลังของพี่น้องประชาชนที่มีความเข้มแข็ง ถ้าสามารถบูรณาการ 4 องค์กรหลักนี้ได้ ก็จะทำให้ชุมชนนั้นมีความเข้มแข็งได้
เราจึงได้ข้อสรุปว่าสี่องค์กรหลักเป็นคำตอบของชุมชนเข้มแข็ง”
ธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส.
“ผมมั่นใจเรื่องการกระจายอำนาจ มั่นใจในเรื่องการมีส่วนร่วม และผมยังมั่นใจด้วยว่าชุมชนเข้มแข็งจะสร้างนวัตกรรมนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนได้ แม้คำว่าสุขภาวะกินความหมายกว้างมาก แต่สิ่งที่ผมดูแลอยู่ในขณะนี้ ผมก็อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดี ซึ่งเราสร้างได้ครับ อย่าง อาหารที่เป็นประโยชน์ การออกกำลังกาย การตระหนักรู้ในเรื่องกิน การลดการใช้สารเคมี ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งหมดคือเรื่องของสุขภาพสุขภาวะ เราจะเดินหน้าเรื่องนี้ด้วยกัน ผมมีความมั่นใจมากครับ”
ดร.สาธิต ปิตุเดชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
การเสวนาเกี่ยวกับการจัดการดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชน หัวข้อ “สานพลัง สร้างคุณภาพเด็กปฐมวัยในชุมชน” มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยที่หลากหลาย เพราะทุกๆ ท้องถิ่นต่างให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กเล็กเป็นอย่างมาก แต่ละพื้นที่ต่างมีแนวทางจัดการเป็นของตัวเอง
เช่นที่อบต.บาละ อ.กาบัง จ.ยะลา ได้ยกตัวอย่างกระบวนการสร้างความเข้าใจให้กับครอบครัวของเด็กเล็ก ให้นำลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยใช้ผู้นำทางศาสนาเข้าไปพูดคุย จนพ่อแม่เข้าใจ และทำให้เด็กๆ ในพื้นที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ได้ฉีดวัคซีน หรือที่ต.นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ ก็มีกลุ่มแม่ฮัก ช่วยดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด ขณะที่เทศบาลตำบลวังผาง ก็บอกว่า ให้ความสำคัญกับทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก แม้กระทั่งโรงเรียนในพื้นที่ ขาดแคลนครูผู้สอน ทางท้องถิ่นก็จัดหางบประมาณมาจ้างครูไปช่วยสอน
“รวมพลอิ่มดี…มีสุข” คือชื่อของห้องย่อยที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอาหาร โดยในการเสวนาว่าด้วยเรื่อง “การสร้างสุขภาวะด้วยระบบอาหารชุมชน” ได้กล่าวถึงโควิด-19 ได้ทำให้วิกฤตด้านอาหารชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันได้กระตุ้นให้คนและชุมชนหันมาให้ความสนใจเรื่องอาหารมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเริ่มเห็นแล้ว ว่าถ้าไม่ลงมือทำในวันนี้ ความอดอยากหิวโหยก็จะเกิดกับชุมชนของตนเองได้
ตัวอย่างดีๆ เกิดขึ้นที่เทศบาลตำบลพระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ได้ส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชผักแบบคีย์โฮล คือในหนึ่งหลุมปลูกพืชให้หลากหลาย เอาไว้กินในครัวเรือนและยังเก็บไปขายได้ด้วย หรือที่เทศบาลนครเชียงราย ท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีการจัดการครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
อย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างเห็นไปในทางเดียวกันว่า หากจะให้ระบบอาหารในท้องถิ่นมีความยั่งยืน ต้องช่วยกันทำให้ห่วงโซ่อาหารในชุมชน หรือ Short Food Supply Chain สั้นที่สุด
“รวมพลคนอาสา” คือชื่อห้องย่อยของคนอาสาที่มาร่วมกันแลกเปลี่ยนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิตในชุมชน ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้นั้น เริ่มมีผู้ป่วยด้านจิตเวชมากขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แตะละท้องถิ่นมีการคัดกรอง เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
อย่างที่รพ.สต.โนนหอม อ.เมือง สกลนคร ได้ทำการสำรวจคัดกรองคนในชุมชน หลังจากพบว่าช่วงโควิด-19 ระบาด ผู้คนเครียดหนัก เมื่อพบผู้ป่วยก็ให้ความช่วยเหลือ พร้อมๆ กันนั้นก็ให้ทุกหมู่บ้านตั้งกรรมการขับเคลื่อนเพื่อให้ความช่วยเหลือ ส่วนที่อบต.แว้ง จ.นราธิวาส พื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน พบปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด และผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนส่วนใหญ่ก็มีสาเหตุมาจากการใช้ยา ทางอบต.แว้งจึงต้องตั้งทีมสหวิชาชีพ 4+1 เข้าไปให้ความร่วมเหลือ
ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ชุมชนท้องถิ่นได้รับการยกย่องอย่างมาก ว่าสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดี ด้วยเหตุนี้ในห้องย่อยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเหล่า “คนปลอดโรค” จึงเต็มไปด้วยนวัตกรรมและกระบวนการจัดการกับปัญหาได้น่าสนใจอย่างยิ่ง
เช่นที่เทศบาลเมืองวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เมื่อไม่มีชุมชนไหนยอมให้เปิดโรงพยาบาลสนาม จนในที่สุดทางเทศบาลต้องใช้พื้นที่ของตัวเองสร้างโรงพยาบาลขนาด 120 เตียงได้สำเร็จ
ที่เทศบาลเมืองปากพูน จ.นครศรีธรรมราช ยอมรับว่าข้อมูลมีความสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเก่าๆ ที่ได้จากการเก็บช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออก ก็นำข้อมูลนั้นมาใช้ในการวางแผนรับมือกับโควิด-19 ส่วนที่อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ก็ตั้ง Fast Team เข้าไปให้ความช่วยเหลือ
ข้อสรุปที่เหล่า “คนปลอดโรค” ได้รับจากการแลกเปลี่ยนในห้องนี้ คือแต่ละพื้นที่ต้องจัดทำข้อมูล ต้องสร้างการมีส่วนร่วม และในยามวิกฤตต้องสื่อสารให้ชัดเจนไปในทางเดียวกัน