เวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ที่ห้องรอยัลจูบิลี ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม 2565 โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ที่มีเหล่าพี่น้องเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพชุมชน มาร่วมสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนรู้ เพื่อสร้างพลัง สร้างแรงบันดาลใจ และนำบทเรียนอันทรงคุณค่า กลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองต่อไป ได้จบลงด้วยความอบอุ่นและประทับใจ
สำหรับกิจกรรมวันสุดท้าย เริ่มต้นด้วย การประมวลบทเรียน “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” โดย รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทเรียนดังกล่าวเป็นผลมาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” โดยเป็นบทเรียนที่กระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และยกระดับตนเอง เพื่อให้เครือข่ายร่วมขับเคลื่อนสู่ภาวะชุมชนที่ยั่งยืนต่อไป ตลอดจนการแก้ปัญหาของชาติด้วยยุทธศาสตร์ต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่นและแน่วแน่ โดยเน้นที่การสร้างการมีส่วนร่วม อันเป็นการสานพลังองค์กรหน่วยงานกลุ่มเครือข่ายที่ต่างมีเป้าหมายและภารกิจเดียวกันในการสร้างสุขภาวะชุมชน
จากนั้นเข้าสู่เวทีเสวนา “นวัตกรรมร่วมสร้างสุขภาวะชุมชน” ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 และ นางประภาศรี บุญวิเศษ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5
ดำเนินรายการโดย นายธีร์วัฒน์ ชูรัตน์ ผู้สื่อข่าวช่อง Thai PBS
นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 2 สสส.
“ ผมเห็นแล้วชื่นใจมาก เราจับถูกทิศแล้ว ก็คือ ขอท้องถิ่น โดยเฉพาะอบต. เทศบาล มาเป็นหัวหอกใหญ่ในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและเป็นการบูรณาการ ปัจจัย ประเด็นในพื้นที่จริงๆนี่คือหนังตัวอย่างของจริง ที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คือเอาพื้นที่เป็นที่ตั้ง”
นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส.
“ สสส.มีทั้งหมด 15 แผน ขณะนี้เราก็มีตัวอย่างของการทำงานร่วมกันไม่ใช่เฉพาะสำนัก 3 อย่างเดียวที่เข้าไปดำเนินการในชุมชนสุขภาวะ เมื่อเรามีบ้านที่มีความสมบูรณ์ลักษณะนี้แล้ว ต่อไปนี้ท่านทั้งหลายเตรียมตัวไว้พร้อมที่จะรับเอาหน่วยงานต่างๆ ที่เขาจะลงไปดูแลในส่วนที่ท่านยังขาดอยู่ ”
นางประภาศรี บุญวิเศษ ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สสส.
“ การดำเนินการโดยใช้ 4 กลไกหลัก เป็นการรวมกลุ่มพลังในการขับเคลื่อนงานที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ การที่เราลงไปทำงานในพื้นที่จริงนั้น ความพร้อมของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ การมีผู้นำ มีนักวิชาการ มีนักจัดการข้อมูล เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง”
ต่อจากนั้น ก่อนที่จะมีการประกาศและมอบเกียรติบัตรศูนย์เรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จำนวน 93 แห่ง รวม 190 เรื่อง แบ่งเป็น 10 ด้าน ตามทิศทางและเป้าหมาย 10 ปี (พ.ศ. 2565-2575) ของ สสส. ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง ทศวรรษที่ 3 สร้างเสริมสุขภาวะชุมชน ว่า ทศวรรษที่ 3 ของการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนของ สสส. หรือการทำงานในเชิงพื้นที่ยังคงทำงานอย่างเข้มข้นร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่มีสมาชิกกว่า 3,000 ตำบลทั่วประเทศ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ต่อยอดพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนด้วยกลไกที่หลากหลายและสร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน ให้กับชุมชนด้วยการน้อมนำศาสตร์ของพระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และระเบิดจากข้างใน เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน เน้นทำงานเชิงบูรณาการทั้งภายในองค์กรและภาคีเครือข่ายให้มีความแนบแน่นเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นพลังที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ
ปิดท้ายเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” การประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” โดย นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้นำเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ รวม 2,777 คน ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการดำเนินการสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ครอบคลุม 8 ประเด็นในการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน คือ 1.คุณภาพเด็กปฐมวัยในชุมชน 2.เฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ 3.สร้างเสริมสุขภาพจิต 4.สร้างสุขภาวะด้วยระบบอาหารชุมชน 5.การควบคุมการบริโภคยาสูบ 6.ความปลอดภัยทางถนน 7.สุขภาวะผู้สูงอายุ 8.การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน และร่วมมือกับภาคียุทธศาสตร์และหน่วยงานตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีการสนับสนุนการสร้าง “สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” เข้าสู่วาระของการพัฒนาประเทศ