“การลงทุนพัฒนามนุษย์ที่คุ้มค่ามากที่สุด คือการลงทุนตั้งแต่ช่วง “เด็กปฐมวัย” ซึ่งจะคืนผลตอบแทนกลับสู่สังคมในอนาคตมากถึง 7 เท่า”

          นี่คือผลงานวิจัยของ เจมส์ เฮ็กแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ปี และส่งผลให้ “การสร้างคุณภาพเด็กปฐมวัยในชุมชน” กลายเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ที่จัดขึ้นโดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4 สสส.) กล่าวย้ำถึงเป้าหมายของการพัฒนาว่า เด็กปฐมวัยทุกคน ต้องมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงกัน ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทท้องที่ใดก็ตาม
ทั้งนี้ การดูแลเด็กปฐมวัยจะต้องครอบคลุมทั้ง 5 มิติ ตั้งแต่การเล่นและกิจกรรมทางกาย การส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโต การควบคุมโรคและบริการสุขภาพ การจัดการโภชนาการแม่และเด็ก รวมไปถึงการจัดการสวัสดิการสังคมสำหรับเด็ก

ผู้อำนวยการสำนัก 4 สสส. ยังยกตัวอย่างเครื่องมือหลักในการยกระดับคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทั้งในรูปแบบของกล่องเครื่องมือที่รวบรวมสื่อสร้างสรรค์พร้อมใช้ไว้หลากหลายแบบ และเว็บไซต์ www.thai-edc.org ซึ่งคุณครูทั่วประเทศสามารถเรียนรู้กระบวนการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยแบบออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบาย

 

ที่สำคัญ งานขับเคลื่อนการดูแลเด็กปฐมวัยจะต้องคำนึงถึงบริบทพื้นที่ ต้นทุนทางสังคม และศักยภาพของแต่ละชุมชนเอง อย่างเช่น ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบครบวงจร โดย นายสืบศักดิ์ สุภิมาส นายกเทศมนตรี ต.วังผาง เลือกนำปัญหาของชุมชนเป็นตัวตั้ง ทั้งสภาพการเป็นอำเภอขนาดเล็กที่ไม่ใช่พื้นที่ทางเศรษฐกิจ ประสบกับปัญหาความยากจนและกลุ่มเสี่ยงอาชญากรรม จนผลักให้เด็ก ๆ วัยเรียนต้องห่างบ้านไปแออัดกับเด็กในเมืองใหญ่

ทางเทศบาลตำบลวังผาจึงเร่งพัฒนาโรงเรียนและบุคลากรครู ให้รองรับทุกช่วงอายุของเด็ก ยกระดับบริการสุขภาพและสถานพยาบาล แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน และใช้วิธีส่งคุณครูเข้าไปรับรู้ปัญหาของเด็ก ๆ และครอบครัว เพื่อส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป ทำให้เด็ก ๆ ได้รับการดูแลอย่างดีและไม่จำเป็นต้องย้ายไปอยู่ที่ไหนเลยจนจบชั้นประถมศึกษา เป็นผลจากการออกแบบการดูแลคนในชุมชน โดยมองคุณภาพชีวิตของมนุษย์แบบองค์รวม ทั้งการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ รวมถึงตัวเด็กและครอบครัวด้วยนั่นเอง

 

ขณะเดียวกัน การบริหารงบประมาณก็เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งนายกิตติพงศ์ สีเหลือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เผยถึงแนวคิดว่า ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นมุ่งมั่นตั้งใจ มีเป้าหมายชัดเจน ก็สามารถปรับนโยบาย โดยนำงบประมาณจากส่วนอื่น เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มาชดเชยเพิ่มให้กับกองการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้ลูกหลานได้

ไม่เพียงเท่านั้น ทาง อบต.เสม็ดใต้ ยังสามารถบูรณาการความร่วมมือจากภาคธุรกิจและเอกชน รวมถึงระบบกองทุนสนับสนุนต่าง ๆ จนเกิดพันธมิตรที่จะช่วยกันดูแลเด็ก ๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยเรียน ทั้งยังจัดจ้างครูปฐมวัยเพื่อดูแลพัฒนาการของเด็กวัยนี้โดยเฉพาะ จากการบริหารทรัพยากรต้นทุนของชุมชนเอง

“เราจะปล่อยให้เด็กของเราด้อยคุณภาพไม่ได้ คุณภาพชีวิตของพวกเรา เราต้องสร้างเอง” นายกฯกิตติพงศ์ ฝากถึงชุมชนท้องถิ่นอื่น ๆ

 

ส่วน น.ส.นูรือมา ลายามุง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลบาละ อ.กาบัง จ.ยะลา ได้บอกถึงกุญแจสำคัญในการทำงานเพื่อเด็กปฐมวัยในพื้นที่ ว่ามาจากการมีข้อมูลที่ชัดเจน จึงมองเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และมีเครือข่ายผู้ร่วมแก้ปัญหาที่มีเป้าหมายเดียวกัน

เธอได้ยกตัวอย่างความสำเร็จเกี่ยวกับการจัดบริการฉีดวัคซีนให้กับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ครอบคลุมได้ถึงร้อยละ 97 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากบางครอบครัวยังมีความกังวลว่า วัคซีนจะไม่มีความเป็นฮาลาลตามความเชื่อทางศาสนา

กระบวนการที่ใช้ คือเจ้าหน้าที่ของอบต.บาละได้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องผ่าน รพ.สต. อสม. รวมถึงองค์กรทางศาสนา เช่น โรงเรียนสอนศาสนาประจำมัสยิด ร่วมกับกลไกการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ปกครองพาลูกหลานมาฉีดวัคซีนด้วยสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้กันในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก จนทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองยอมรับ จนนำบุตรหลานเข้าไปฉีดวัคซีน

 

และหากใครเคยได้ยินคำกล่าวว่า การเลี้ยงเด็กสักคนหนึ่ง ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน ชาว ต.นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ ก็คือภาพแทนอย่างดีของคำกล่าวนั้น ซึ่ง นางสุนันทา มานะพิมพ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต. นาป่าแซง ได้แนะนำ คณะทำงานไทนาป่าแซงบ่ถิ่มกัน ในฐานะแกนนำผู้ขับเคลื่อนดูแลชีวิตคนนาป่าแซงอย่างเป็นระบบตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต

“เราทำงานร่วมกันเป็นทีม ตั้งแต่ รพ.สต. อสม. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กลุ่มสตรี ชมรมผู้สูงอายุ สภาเยาวชน ตลอดจนคนทั้งห้าวัยในชุมชน เพื่อไม่ให้มีเด็กถูกทิ้งไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว”

เนื่องจากเด็ก ๆ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ที่นี่จึงมี ชมรมแม่ฮัก ซึ่งจะผูกแขนเป็นเสมือนแม่คนที่สองของเด็ก ทำหน้าที่ดูแลพัฒนาการตามหลักที่ถูกต้อง ขณะที่แต่ละหมู่บ้านจะจัดกิจกรรมสำหรับแม่และเด็กขึ้นทุกสัปดาห์ภายใต้ชื่อ คุณภาพเด็กดีที่เนอร์สเซอร์รี่บ้านเฮา ที่สำคัญ คนในชุมชนสามารถช่วยกันออกแบบกิจกรรมเพื่อเด็ก ๆ เช่น ลานเล่นโฮมสุข หรือ กองทุนนม ไข่ โดยไม่ต้องรอนโยบายหรือความช่วยเหลือจากใคร

“ทั้งหมดนี้ เราคาดหวังว่าเด็ก ๆ ของเราจะเติบโตขึ้นมาเป็นแกนนำ ที่จะดูแลชุมชนต่อไปในอนาคต” นางสุนันทากล่าวทิ้งท้าย

แนวคิดการพัฒนาเด็กปฐมวัยจากทุกภูมิภาค ได้รับการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันภายในงานอย่างอบอุ่น ซึ่งแต่ละพื้นที่จะนำไปต่อยอดและสร้างนวัตกรรมของตนเองอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

          ทั้งนี้เพื่อให้เป้าหมายการสร้างคุณภาพเด็กปฐมวัย และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในฝันของทุกคน เกิดขึ้นในชุมชนได้จริง