หากชุมชนของเราต้องถูกตัดขาดเป็นเวลาหนึ่งเดือน เราจะยังมีอาหารกินอยู่หรือไม่ หากคุณไม่ค่อยแน่ใจ นั่นอาจสะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหารในชุมชนที่เริ่มสั่นคลอน…

แน่นอนว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมานาน และยิ่งถูกเน้นให้เห็นเด่นชัดขึ้นหลังจากโลกต้องเผชิญปัญหาการเข้าถึงอาหารในช่วงวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องตกอยู่ในสภาพขาดรายได้และต้องการการดูแลจากรัฐ ประเด็นความกังวลเหล่านี้จึงเป็นวาระใหญ่ที่ไทยต้องให้ความสำคัญ

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดเวทีเสวนา “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ภายใต้กรอบการสร้างสุขภาวะด้วยระบบอาหารชุมชน เพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมและตัวอย่างความสำเร็จในการสร้างระบบอาหารชุมชนสู่คนในวงกว้าง

รอดพ้นวิกฤตด้วยผักสวนครัว

          นายเสน่ห์ แพงมา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสำโรงตาเจ็น อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงประสบการณ์การฝ่าฟันผ่านวิกฤตหลากหลายรูปแบบของตำบลสำโรงตาเจ็น ทั้งวิกฤตสารพิษในเลือดสูงที่นำไปสู่โรคมะเร็งและโรคร้ายอื่นๆ รวมไปถึงการรอดพ้นวิกฤตโรคระบาด ด้วยการทำพืชผักสวนครัวชุมชน โดยใช้ที่ว่างเปล่ารวมถึงพื้นที่ในวัดและในโรงเรียนในการผลิตอาหารให้กับชุมชนและศูนย์เด็ก โดยเป็นสวนผักที่ลดการใช้สารเคมี เพื่อให้ชุมชนมีอาหารปลอดภัยและพึ่งพิงตัวเองได้มากที่สุดในช่วงวิกฤต

“ถ้าท่านไหนที่เคยไปสำโรงตาเจ็นจะพบว่า รถพุ่มพวงเข้าไปจะขายไม่ได้เลย เพราะทุกครัวเรือนเขาก็จะมีหมดแล้ว” ปลัดเสน่ห์ บอก

ขณะที่คนในเมืองนั้น มักเคยชินกับการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก แต่ในภาวะวิกฤตแบบนี้ การเพาะปลูกบนพื้นที่เล็กๆ ของตัวเอง น่าจะก้าวแรกที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง

น.ส.วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ได้นำเสนอความย้อนแย้งของวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้คนเมืองขาดแคลนอาหาร ขณะที่เกษตรกรก็ขาดทุนเพราะมีผลผลิตแต่ขนส่งไม่ได้ นำมาสู่การหันมาพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นด้วยการสร้างสวนผักคนเมือง

“กินสามมื้อแต่คุณต้องพึ่งคนอื่นทั้งหมด มันก็ไม่ใช่ใช่ไหม” น.ส.วรางคนางค์ ตั้งคำถาม ก่อนขยายความว่า ชุมชนเมืองถ้าต่างคนต่างอยู่ต่อไปมันก็ไม่รอด สวนผักคนเมืองก็เลยเน้นการรวมกลุ่ม ให้คนที่ต่างคนต่างอยู่มารวมกลุ่มทำงานด้วยกันอย่างน้อยหนึ่งปี เปลี่ยนที่พื้นที่รกร้างสาธารณะเป็นพื้นที่อาหาร

การนำนวัตกรรมเกษตรในเมืองมาใช้ ช่วยให้คนที่ไม่มีทักษะปลูกผักก็เป็นผู้ผลิตอาหารเองได้ ภายใต้ทุกข้อจำกัดไม่ว่าจะพื้นที่เล็ก แสงแดดน้อย ไม่มีพื้นดิน ฯลฯ เพียงมีพื้นที่ขนาด 1 ตร.ม. ก็สามารถปลูกผักได้ 2-5 กก. ต่อรอบ (45 – 60 วัน) ซึ่งน.ส.วรางคนางค์ ยังกล่าวเสริมอีกว่า สวนผักคนเมืองเหล่านี้ยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่แบ่งปันให้กับคนกลุ่มเปราะบางในชุมชน ในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงอีกด้วย

 

สวนขนาดเล็กแต่ผลผลิตมหาศาล

          นางสิริวรรณ โอภากุลวงษ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลพระแท่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวถึงการนำกระบวนการเก็บข้อมูลชุมชน Recap มาใช้วิเคราะห์ปัญหาชุมชน ทำให้พบว่าร้อยละ 94 ของคนในชุมชนมีสารเคมีตกค้างในเลือด ทำให้คนในชุมชนเริ่มตื่นตัวและค้นหาทางออก จนพบนวัตกรรม Key Hole Garden ที่มีต้นแบบมาจากการแก้ปัญหาความอดอยากในประเทศอูกันด้า โดยใช้แปลงขนาด 1.8 เมตร ก็ทำให้มีอาหารรับประทานเพียงพอตลอดปี อีกทั้งในช่วงการระบาดของโควิด สวนคีย์โฮลที่มีอยู่ในตำบลพระแท่นตอนนี้กว่า 650 แปลง ก็ได้กลายเป็นสวัสดิการชุมชนให้กับกลุ่มคนเปราะบางอีกด้วย

นอกจากจะทำให้การพบสารเคมีตกค้างในเลือดน้อยลงแล้ว แปลงผักเล็กๆ เหล่านี้ยังขยายไปสู่ “Key Hole Farmer Market” ตลาดสีเขียวที่ให้สิทธิครอบครัวที่มีสวนคีย์โฮลในการเข้ามาตั้งแผงขายผลผลิต ซึ่งจะมีการควบคุมคุณภาพจากคณะกรรมการอย่างสม่ำเสมอ

“ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนก็มองเห็นว่าตลาดของเราคือรากเหง้าเศรษฐกิจชุมชนค่ะ จึงให้ตลาดของเราเป็นศูนย์บ่มเพาะแผนเศรษฐกิจชุมชนในระดับภาคกลางและตะวันตก ซึ่งก็จะส่งพื้นที่อื่นมาเรียนรู้แผนเศรษฐกิจชุมชนกับเรา” นางสิริวรรณ กล่าว

 

เครือข่ายอาหารปลอดภัยแบบครบวงจร

          นายณรงค์ศักดิ์ เรืองสกุล รองนายกเทศบาลนครเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงโครงการพัฒนานครเชียงรายสู่เมืองมีความสุขสามมิติ ซึ่งการส่งเสริมอาหารปลอดภัยก็เป็นส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยมีทั้งศูนย์สาธิตอาหารปลอดภัย ศูนย์ตรวจหาสารพิษพืชผักในตลาด มีการทำระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เพื่อเตรียมความพร้อมของเกษตรกรสู่มาตรฐานสากล นอกจากการสนับสนุนการผลิตแล้ว ยังมีคำนึงถึงการหากลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด เริ่มที่โรงเรียนในสังกัดโดยการทำเมนูกลาง ซึ่งโรงเรียนจะเป็นผู้วางแผนอาหารในแต่ละวัน เพื่อให้สามารถวางแผนได้ว่าเกษตรกรควรปลูกผักชนิดไหนมาป้อนโรงเรียน โดยมีแอพพลิชั่นผักปลอดภัยเป็นตัวกลางในการรวบรวมและประสานข้อมูล

นายณรงค์ศักดิ์ เสริมอีกว่า หัวใจของการจัดการคือการสนับสนุนให้ครบวงจร ทั้งการผลิตและการตลาด “ถ้าหากว่าเราไม่ทำกลุ่มเป้าหมายการตลาดให้ชัดเจน จะทำให้พ่อค้าคนกลางเข้ามากดราคา สมัยก่อนภาครัฐสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตอย่างเดียว แต่เขาไม่ได้คุยเรื่องการตลาด ถ้าเขาคุยให้ชัดเจน ผลิตออกมาแล้วขายได้แน่นอน สิ่งนี้จะยกสถานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ครับ”

 

สร้างผู้นำชุมชนด้วยความมั่นคงทางอาหาร

          ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ และกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึง แนวทางในการบูรณาการเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยมองว่าหากจะวางแผนให้มีประสิทธิภาพ ต้องมองผู้บริโภคให้มากกว่าประชาชนคนเดียว ซึ่งเป็นได้ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล หรือออฟฟิศขนาดใหญ่ จากนั้นจึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าหากัน สร้างเป็นกลไกท้องถิ่นที่ทำงานบนฐานของข้อมูลที่ประสานกันตลอดเวลา

“เราพบว่า เวลาที่เราพูดถึงการบริโภคของประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วเราทำได้มากที่สุดก็คือการให้ความรู้ แต่เมื่อไหร่ที่เรามองผู้บริโภคเป็นกลุ่มเป็นก้อน จะทำให้การวางแผนในเรื่องของความมั่นคงทางอาหารมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น” คุณหมอจันทนา กล่าว

ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ กล่าวปิดท้ายว่า การจัดการความมั่นคงทางอาหารด้วยการสร้างเครือข่ายอาหารภายในชุมชน ถือเป็นแบบฝึกหัดชั้นดีของการพัฒนาผู้นำชุมชน ในการฝึกทักษะการใช้ข้อมูล การวางแผน การตลาด พร้อมทั้งการทำความเข้าใจห่วงโซ่อุปทานของอาหาร ว่าเมื่อไหร่ที่เราสามารถทำให้การเดินทางของอาหารและเงินระหว่างผู้ปลูกและผู้บริโภคกลายเป็นสายโซ่ที่สั้นที่สุดได้

          “ผลดีจะไม่ใช่แค่การลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ แต่รวมถึงการทำให้คนในท้องถิ่นเกิดความใกล้ชิดและพร้อมที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาในด้านอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต” คุณหมอจันทนา กล่าวสรุปได้ชัดเจนยิ่ง