เทศบาลนครหาดใหญ่เป็น 1 ใน 6 พื้นที่นำร่องการจัดการสุขภาวะเขตเมือง (เทศบาลอื่น ๆ ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เทศบาลเมืองมหาสารคาม เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และเทศบาลเมืองปากพูน จ.นครศรีธรรมราช) ที่สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน
การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะของเทศบาลนครหาดใหญ่เน้นหนักไปที่ 13 ประเด็น เช่น ควบคุมการบริโภคยาสูบ ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เศรษฐกิจชุมชน การจัดการความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นต้น และท้ายที่สุดแต่ละชุมชนจะร่วมกันกำหนดแผนการขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเขตเมือง เพื่อเป้าหมาย “เทศบาลนครหาดใหญ่เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน”
ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ที่หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ร่วมกับ สำนัก 3 สสส. ได้จัดการประชุม “หาดใหญ่: การอออกแบบเมืองสุขภาวะอย่างมีส่วนร่วม (Hatyai : Healthy City Co-design) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) ระหว่าง 5 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง มูลนิธิสถาบันสร้างสรรค์ปัญญาสาธารณะ, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, ชุมชนรอบคลองเตย, สำนัก 3 สสส. และ เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยมี พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เป็นประธาน
ทั้งนี้โครงการ “หาดใหญ่ : การออกแบบเมืองสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม (HatYai : Healthy City Co-Design)” มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างเมืองสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีที่ตอบโจทย์คนในเมืองหาดใหญ่ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการสร้างพันธมิตรทางวิชาการด้วยการทำงานรูปแบบใหม่ที่เป็นความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมออกแบบ ระหว่างสถาบันวิชาการและองค์กรหลักของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายในการสร้างเสริมสุขภาวะและการจัดการรับมือกับภาวะวิกฤตในชุมชนเมือง
การมีหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเมืองหาดใหญ่ จึงจำเป็นต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของทั้ง 5 หน่วยงานที่เข้ามาทำงานร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOA) ครั้งนี้ ซึ่งได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานและกิจกรรมความร่วมมือให้กับหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
ข้อ 1 ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) ยินดีให้บริการด้านวิชาการในการพัฒนาเมืองสุขภาวะ เช่น การจัดหานักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองสุขภาวะ จัดกระบวนการเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านการออกแบบสุขภาวะเมืองให้กับนักศึกษา เทศบาล ชุมชน เกี่ยวกับกรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองสุขภาวะ ประสบการณ์การออกแบบมีส่วนร่วม ที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกำหนดแนวทางการเก็บข้อมูลชุมชนบริเวณคลองเตย การกำหนดแนวทางการออกแบบความเป็นอยู่ที่ดีที่ตอบโจทย์คนในเมืองหาดใหญ่ และสรุปบทเรียนการพัฒนาสุขภาวะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานของพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่
ข้อ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จะรับผิดชอบดูแลและเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จำนวน 71 คน ในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลบริเวณคลองเตยและชุมชนรอบข้าง ทั้งสำรวจความต้องการของชุมชน ค้นหาข้อมูลพฤติกรรมสุขภาวะของชุมชนในพื้นที่ รวมไปถึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของเมือง เพื่อให้นักศึกษาสามารถออกแบบเมืองสุขภาวะร่วมกับชุมชนและเทศบาลนครหาดใหญ่ ให้สอดคล้องกับความต้องการและอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่
ข้อ 3 เทศบาลนครหาดใหญ่ ยินดีให้ความร่วมมือ ร่วมคิดและออกแบบเมืองสุขภาวะร่วมกับนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย และชุมชนบริเวณคลองเตย รวมไปถึงให้ข้อมูลของพื้นที่ และอำนวยความสะดวกในการจัดประชุมระดมสมองการออกแบบเมืองสุขภาวะในเมืองหาดใหญ่
ข้อ 4 ชุมชนบริเวณรอบคลองเตย ยินดีที่จะร่วมให้ข้อมูลพื้นที่ ให้ความร่วมมือ ร่วมคิดและร่วมออกแบบการออกแบบเมืองสุขภาวะในเมืองหาดใหญ่ที่ตอบโจทย์ความต้องการและอัตลักษณ์ของชุมชน
ข้อ 5 ทุกหน่วยงานจะต้องให้ความร่วมมือ นำร่องจัดกิจกรรมเมืองสุขภาวะจากการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ให้กลายเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการพัฒนาแนวทางและรูปแบบใหม่ของการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเขตเมือง ในลักษณะ Healthy City Co-Design และนำไปสู่การขยายผลความร่วมมือในการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ในเรื่องอื่นๆ ได้
ข้อ 6 เทศบาลนครหาดใหญ่ จะรับผิดชอบดำเนินการบริหาร ดูแล และสานต่อการพัฒนาเมืองสุขภาวะที่ตอบโจทย์อัตลักษณ์และความต้องการของชุมชนต่อไปในระยะยาว
ผลที่จะเกิดขึ้นจากโครงการออกแบบเมืองสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมนี้ คาดหวังว่าพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่จะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการพัฒนาแนวทางและรูปแบบใหม่ของการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนเขตเมืองแบบมีส่วนร่วมหลายภาคส่วน และนำไปสู่การขยายผลการเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของเมืองอื่น ๆ ต่อไป
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#สสส
#ชุมชนเข้มแข็ง
#ชุมชนท้องถิ่น รู้รับปรับตัว