วิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์ “ต๋องเปา” วิถีจัดการสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยชุมชน
กระแสรักสุขภาพกำลังมาแรง คนหันมาสนใจทานพืชผักปลอดสารเคมีเพิ่มมากขึ้น คนเชียงใหม่ก็เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม พบว่า โรคมะเร็งมีอัตราการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของคนแม่วาง มานานนับ 10 ปี
องค์การบริหารส่วนตำบลดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยการสนับสนุน สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แบ่งปันประสบการณ์การขับเคลื่อน “การจัดการสภาพแวดล้อมของชุมชน โดยชุมชนท้องถิ่น” ในเวที “ล้านนาฮอมสุข มัดปุ๊กสุขภาวะ สานพลังชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปบทเรียนการสร้างสุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืนด้วยทุนทางสังคม และศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นสู่การบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ โดยชูประเด็น “ความมั่นคงทางอาหาร” ผ่านการปลูกพืชผักอินทรีย์ที่มุ่งเน้นตลาดเขียว เพื่อความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย ส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชน ผลักดันระบบการเกษตรให้ยั่งยืน และเกิดธนาคารเมล็ดพันธุ์ ช่วยผลักดันต่อยอดการพัฒนาพืชผักไทย

นายสดา จิโนเป็ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเปา อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ มองว่า ความปลอดภัยทางด้านอาหารเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้บริโภค การที่ร่างกายได้รับอาหารปลอดภัย ปราศจากสารเคมี ช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง การสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยจึงเริ่มต้นจากชุมชนหรือเกษตรกรที่มีแนวคิดคล้ายกัน มีการรวมตัว “ร่วมคิด ร่วมทำ” ผ่านเวทีประชาคมในระดับตำบลหรือ “เวทีข่วงดอนเปา” เกิดแนวคิดและนโยบายด้านอาหารปลอดภัย ส่งเสริมการผลิตพืชผักอินทรีย์ กลุ่มกองทุนฝ้ายเพื่ออนุรักษ์ฝ้ายพื้นเมือง ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของภูมิปัญญาผ้าฝ้ายพื้นเมืองย้อมสีจากธรรมชาติ และภายใต้การขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ช่วยสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เกิดเป็นกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนต๋องเปา” ในเดือนกันยายน 2565

“การปลูกพืชมักใช้สารเคมี ทำให้อาหารไม่ปลอดภัย เวลาส่งขายก็ราคาไม่ดี จนช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กลุ่มคนรุ่นใหม่กลับมาภูมิลำเนามากขึ้น มีการรวมกลุ่ม และต่อยอดเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น อบต. สนับสนุนจัดอบรมเกษตรอินทรีย์โดยใช้งบประมาณจาก สสส. ให้องค์ความรู้ เกิดการแลกเปลี่ยนปลูกผักไม่ใช้สารเคมี อยู่กับธรรมชาติ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ ใช้มูลไก่เป็นปุ๋ย ต่อยอดขยายวงให้กว้างขึ้นตอบรับกับความนิยมพืชผักปลอดสารพิษ ซึ่งมีราคาดีกว่า ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งตลาดชุมชน ตลาดนัดประจำตำบล เพื่อเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนพัฒนาตราสินค้าของชุมชนเพื่อสร้างมูลค่า ช่วยสร้างความปลอดภัยให้ชุมชนที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นและทำให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น” นายสดา อธิบาย
ปรัชญา พูดถึงแนวคิดการกลับบ้านเกิดมาทำเกษตรอินทรีย์ แม้ว่าจุดเริ่มจะมาจากการที่ ตา ยาย ป่วยแล้วแม่ดูแลไม่ไหว เขาไม่ต้องการส่งเพียงเงินทองกลับมาเท่านั้น เมื่อ 4 ปี ที่แล้ว เขาจึงกลับมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรเริ่มทำสวนเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งเดิมเป็นสวนลำไยที่ปล่อยเช่าต้น และใช้สารเคมี เพื่อให้ได้ผลผลิตเต็มที่ แต่การเริ่มต้นไม่ง่ายการปลูกผักอินทรีย์อย่างผักยอดฮิต เช่น “ผักสลัด” ก็ลองผิดลองถูกมามาก ต้นลำไย ก็เลิกใช้สารเคมี ทำให้ปีแรกไม่มีผลผลิต จนปีที่ 3 จึงเริ่มได้ขาย แต่ไม่ได้มากเพราะแรงงานเก็บเกี่ยวไม่มี และทำกันในครอบครัวเพียง 3 คนเท่านั้น

ปัจจุบัน ปรัชญา ยังปลูกผักอินทรีย์ ผลผลิต เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว บวบ มะเขือยาว ปลูกหมุนเวียนเพราะผักกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการทำให้ไม่พอขาย และจะมีผักพื้นบ้าน อย่างผักเชียงดา ผักกูด เพื่อส่งที่โรงพยาบาล สวนดอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือตลาดนัดวันศุกร์ หน้าสาธารณสุขจังหวัด ช่วง 7.00 -10.00 น. รวมถึงร้านของเพื่อนที่สวนดอก มีรายได้เดือนละ 40,000-50,000 บาท
“เมื่อก่อนจะต่างคนต่างทำ แต่พอมารวมกันด้วยการสนับสนุนจาก อบต. ดอนเปา และตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำให้ได้เจอกับกลุ่มเพื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่คิดคล้ายกัน เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ให้กัน ทุกวันนี้ปลูกพืชผักอินทรีย์คนเดียวไม่เพียงพอกับความต้องการ ถ้ามีคนปลูกเพิ่ม เราก็ปลูกบางส่วน เครือข่ายก็ปลูกบางส่วน แล้วรวบรวมนำผลผลิตออกสู่ตลาด ตอนนี้ในกลุ่มมี 10 ครอบครัว สมาชิก 18 คน ผมจะทำหน้าที่ดูเรื่องตลาด และนำผักไปส่งด้วย ซึ่งผักอินทรีย์ที่เราปลูก แม้รูปร่างไม่สวยงาม แต่รสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหาร และเก็บไว้ได้นาน สิ่งที่ลูกค้าสะท้อนกลับมาและกลับมาซื้อซ้ำ เป็นพลังพวกทำให้เรามีกำลังใจ” ปรัชญา เล่า
ปรัชญา ย้ำว่า ข้อดีของพืชผักอินทรีย์ คือการได้กินของที่ปลูกเอง รู้ที่มาที่ไป รู้กระบวนการผลิต กระบวนการปรุง จะได้กินแต่ของที่ดี อร่อย และมีความสุข ซึ่งเราสามารถเริ่มจากตัวเอง ขยายต่อไปให้คนรอบข้าง อย่างญาติ พี่น้อง หลายคนหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อกินเองบ้าง ขายบ้าง สร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้เขาพอใจ และคิดว่า ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ยังอยากชวนคนอื่น ๆ หันมาปลูกผักอินทรีย์กันให้มาก ๆ สร้างระบบอาหารที่ปลอดภัย ยั่งยืนร่วมกัน ส่วนจะขยายผลต่อไปอย่างไร ทั้งเป้าหมายที่จะทำโฮมสเตย์ ให้คนได้สัมผัสอาหารปลอดสารเคมี อยู่กับธรรมชาติ ถือเป็นกำไรในชีวิตแล้ว
