มหาสารคาม Smart farming อีกก้าวเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
สู่ต้นแบบชุมชนเมืองสุขภาวะ
………………………
ชุมชนบ้านแมด ต.ตลาด อ.เมืองมหาสารคาม หนึ่งในชุมชนต้นแบบปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่พอเพียง อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม มีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยชุมชนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดชุมชนน่าอยู่สู่สังคมเป็นสุข ประจำปี 2565
ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ชาวมหาสารคาม นำโดยนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้ร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองมหาสารคาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 5 แห่ง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการสร้างสุขภาวะเพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนเทศบาลเมืองมหาสารคาม พร้อมประกาศปฏิญญาขับเคลื่อนสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่สวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ อ.เมือง จ.มหาสารคาม เมื่อเร็วๆนี้
Smart farming เป็นทิศทางการพัฒนาเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาดด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจไปสู่เมืองอัจริยะ ว่าที่ร้อยตรีพัฒนายุทธ เพ็งบุญ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองมหาสารคาม อธิบายความเป็น Smart farming ของมหาสารคามว่า ทุกวันนี้เราปลูกผักอินทรีย์ที่เป็นผักสวนครัวในครัวเรือน ขยายเป็นเครือข่ายเพื่อผลิตผักปลอดภัยให้กับคนในชุมชน และจะขยายสู่แปลงผักเกษตรอินทรีย์โดยใช้พื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่สาธารณะของชุมชน และการบริหารจัดการผ่านระบบออนไลน์ เพื่อวางแผนการผลิตให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค
ว่าที่ร้อยตรีพัฒนายุทธ เล่าว่า เทศบาลเมืองมหาสารคาม มีลักษณะพื้นที่เป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบท จึงมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนน้อย และผลจากการพัฒนาเมืองที่มีมาต่อเนื่องทำให้พื้นที่เกษตรกรรมถูกเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น คนในเมืองจะไม่ค่อยได้กินผักอินทรีย์ หรือผักปลอดสาร ผักส่วนใหญ่เป็นผักมาจากที่อื่น จังหวัดอื่น ซึ่งเป็นผักที่มีการตกค้างของสารเคมีในการกำจัดศักตรูพืชในปริมาณมาก ทั้งๆ ที่ปัจจุบันผักอินทรีย์ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะคนเริ่มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น การเลือกรับประทานผักและผลไม้ ที่ผลิตในระบบอินทรีย์ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค เรามีตลาดเขียวที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย สามารถบริโภคได้ในชุมชน และยังนำไปจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชน พร้อมให้เป็นชุมชนต้นแบบในการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์และเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ตัวอย่างตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ว่าที่ร้อยตรีพัฒนายุทธ บอกอีกว่า การนำเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้วยนะบบออนไลน์มาใช้ในการสร้าง “โต๊ะปลูกผัก” แปลงผักเกษตรอินทรีย์โดยใช้พื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่สาธารณะของชุมชน 5-6 ไร่ สำหรับแพลตฟอร์มฟาร์มอัจฉริยะ หรือนวัตกรรมโต๊ะปลูก ทำให้ชาวบ้านสามารถดูแลจัดการแปลงบนโต๊ะได้ง่าย ทั้งการเตรียมดิน รดน้ำ กำจัดวัชพืช และเก็บเกี่ยวโดยไม่ต้องนั่งหรือก้มตัว และยังควบคุมแสงแดด น้ำ ด้วยระบบออนไลน์ ส่วนผักที่เหมาะสำหรับปลูกบนโต๊ะ เช่น ผักสลัด ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง โดยเราได้รับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) และสสส. ในการสนับสนุนทั้งองค์ความรู้ และงบประมาณ
สำหรับ Smart farming เป็น 1 ใน 9 ประเด็น ขับเคลื่อนงานการจัดการอาหารในชุมชน เพิ่มพื้นที่สาธารณะในชุมชนสร้างอาหารปลอดสารพิษ ตามโครงการสร้างสุขภาวะ เพื่อคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจากสสส. โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อยกระดับเทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการสุขภาวะชุมชนเขตเมือง พัฒนาให้เป็นชุมชนท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการรู้รับ ปรับตัว
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สานัก 3) สสส. มองว่า มหาสารคามเป็นเมืองที่มีทุนและศักยภาพสูง การประกาศปฏิญญาขับเคลื่อนสู่เมืองอัจฉริยะ เป็นแนวทางการพัฒนาเมืองที่ริเริ่มขึ้นมาจากท้องถิ่นที่มีความพร้อม สสส.หนุนเสริมเพียงบางส่วน คำว่า “สมาร์ทซิตี้” ของมหาสารคาม คือ การใช้ชีวิตอย่างฉลาด อย่างตลาดเขียว ที่นำพืชผักอินทรีย์ ปลอดสารเคมีก็ทำอย่างต่อเนื่องมา 18 ปี แล้ว จากนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาช่วยทำให้คนมีอาหารที่ปลอดภัย เพียงพอต่อความต้อง เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม
ดร.ประกาศิต กล่าวต่อว่า สสส.ร่วมกับเทศบาลเมืองมหาสารคาม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเครือข่าย ดำเนินการดังนี้ 1. สร้างการเรียนรู้ให้กับ ผู้บริหารท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำชุมชน และผู้นำของหน่วยงานในพื้นที่ ให้มีขีดความสามารถในการจัดการสุขภาวะชุมชน 2. พัฒนาระบบข้อมูล เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาและปรับระบบบริการให้สามารถเข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น 3.พัฒนานวัตกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เพิ่มปัจจัยส่งเสริมสุขภาพ ด้วยการกำหนดนโยบายสาธารณะและนวัตกรรมเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ
มหาสารคามถือเป็นต้นแบบของ 1 ใน 6 พื้นที่นำร่องการจัดการสุขภาวะเขตเมืองของ สสส. เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสู่การเป็น “เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน”