จุดเริ่มต้นการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองสนิท เกิดเป็น “หนองสนิทโมเดล” สู่ “ต้นแบบการจัดการอาหารโดยชุมชนท้องถิ่น” ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว
นายสมจิตร นามสว่าง นายกองค์การบริหารส่วนตําบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เล่าถึงที่มาของ “หนองสนิทโมเดล” ว่า ราวปี 2534 สมัยนั้นมูลนิธิศุภนิมิตได้เข้ามาส่งเสริมเรื่องการพึ่งตนเอง ปลูกผักกินเอง ลดค่าใช้จ่าย เกิดการตั้ง “ธนาคารผัก” บ้านสำโรงหมู่ที่ 3 โดยเน้นเกษตรอินทรีย์ 100% ประกอบกับช่วงนั้น เกษตรกรในพื้นที่ทำเกษตรที่ใช้ทั้งปุ๋ยทั้งยา คนสุขภาพย่ำแย่ เมื่อตรวจพบสารเคมีในเลือดของคนในพื้นที่สูง จนปี 2542 ผู้ว่าจังหวัดสุรินทร์ขณะนั้น (นายเกษมศักดิ์ แสนโภชน์) มีนโยบายภายใต้โครงการ “สุรินทร์เมืองเกษตรอินทรีย์ 30 นาทีออกกำลังกาย” ส่งผลต่อการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง มีการขยายพื้นที่การปลูกข้าว ผัก ปศุสัตว์อินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน ต.หนองสนิท มีพื้นที่มมากกว่า 50% ที่เปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์
“อบต.หนองสนิทได้พัฒนากลไกการจัดการอาหารปลอดภัยทั้งในระดับพื้นที่เกิดนโยบายในระดับตำบล อำเภอ(พชอ.จอมพระ) และจังหวัด มุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และ 4 องค์กรหลัก เกิดการพัฒนาระบบการจัดการอาหารปลอดภัยเป็น “หนองสนิทโมเดล””นายกอบต.หนองสนิทเล่า
นายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสํานักปลัดองค์การบริหารส่วนตําบลหนองสนิท เล่าว่า กว่าจะเป็น “หนองสนิท Model” ไม่ใช่เรื่องง่าย การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตำบลหนองสนิท ใช้หลัก 3 H ในการบริหารจัดการ คือ Heart (มีใจ) Head (มีความรู้) และ Hand (ลงมือทำ) นำไปสู่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
สำหรับต้นน้ำ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต พัฒนาจากนโยบายจังหวัดส่งเสริมการปลูกผักอินทรีย์ แก้ปัญหาการขาดรายได้ของประชาชน อบต.จัดการพื้นที่สาธารณะให้กับเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน ส่งเสริมองค์ความรู้ เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และร่วมวางแผนการผลิต การวางแผนการตลาด ตลอดถึง การจำหน่าย กลางน้ำ ขั้นตอนการรวบรวมผลผลิตโดยส่งเสริมองค์ความรู้หลากหลายด้าน เช่น การเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์ เลี้ยงวัวและการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลาอินทรีย์เป็นต้น และปลายน้ำ ขั้นตอนการกระจายผลผลิต โดยหาผู้บริโภค กลุ่มคนที่รับประทานผักอินทรีย์ (กลุ่มคนรักสุขภาพ) จัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตร มีการส่งผักอินทรีย์ ให้โรงเรียนในพื้นที่ตำบลหนองสนิท จำนวน 6 แห่ง และ 1 ศพด. รวมถึงการส่งผักอินทรีย์สู่โรงพยาบาลจอมพระ โรงพยาบาลสุรินทร์โรงพยาบาลท่าตูม โรงพยาบาลรัตนบุรี โรงพยาบาลเขวาสินรินทร์ ต่อยอดผลผลิตแบบโมเดิร์นเทรด นำผักไปขายที่ ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาโรบินสันสุรินทร์ เป็นต้น
ในปี 2562 ตั้งสหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท จำกัด ทำหน้าที่วางแผนการผลิตและการตลาด เกิดเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรมีการกระจายอาหารเชื่อมโยงกับความต้องการบริโภคภายในชุมชน โรงพยาบาล และภาคเอกชน ผลที่เกิดขึ้นระดับครอบครัว ครอบครัวกลุ่มเป้าหมายมีรายได้จากการปลูกผักอินทรีย์ต่อเนื่อง จากเดิม 2,500 บาท/เดือน และสามารถลดรายจ่ายในการซื้อผักบริโภคจำนวน 1,800 บาท/เดือน ทำให้เกิดความมั่นใจในการทำเกษตรอินทรีย์ว่ามีรายได้ต่อเนื่องและสามารถทำได้จริง และสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับครัวเรือน ตําบล และจังหวัด
นายสมเกียรติ เล่าต่อว่า การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของ ต.หนองสนิท ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามาร่วมสนับสนุนพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2554 และในปี 2561 ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กับศูนย์จัดการเครือข่าย ทต.นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ และเป็นเครือข่ายศูนย์ประสานงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ทต.สนม อ.สนม จ.สุรินทร์ มีการพัฒนาระบบข้อมูลข้อมูลตำบล(TCNAP) และวิจัยชุมชน(RECAP) ซึ่งเป็นการเติมเต็มที่สำคัญ โดยอบต.หนองสนิท และชุมชน ได้สำรวจความต้องการ และนำข้อมูลผู้พิการผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสมาใช้โดยให้สิทธิ์กับกลุ่มดังกล่าวก่อนเป็นลำดับแรก ในการจัดสรรพื้นที่สาธารณะ จํานวน 18 ไร่ ให้ผู้ที่ไม่มีที่ดิน และผู้มีความจําเป็น รวม 70 ครอบครัว ในการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการบริโภคและสร้างรายได้
นอกจากนั้นยังมีส่วนในการจุดประกายนวัตกรรมการจัดการอาหารปลอดภัยในโรงเรียน มีการตั้งธนาคารข้าวเปลือก ปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรียน เลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี จัดโครงการอาหารปลอดภัยในโรงเรียน เป็นเมนู Thai School lunch ที่โรงเรียนบ้านหนองกับที่สามารถบริหารจัดการอาหารกลางวันหัวละ 21 บาท/คน ได้อย่างมีคุณภาพ
“หนองสนิทโมเดล” ถือเป็นต้นแบบการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนสู่อาหารเพื่อสุขภาวะ โดย ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุน สสส. รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.บอกว่าโดย สสส. เข้ามาหนุนเสริมการเรียนรู้วิธีการจัดการระบบอาหารโดยชุมชนท้องถิ่น 3 เรื่องหลัก คือ 1. กลไกการบริหารจัดการระบบอาหาร ต. หนองสนิท และกลไกการทำงานระดับเครือข่าย 2. การส่งเสริมการเข้าถึงอาหารของคนทุกกลุ่ม 3. ออกแบบและกำหนดเป้าหมายการบูรณาการในการขับเคลื่อนระบบอาหาร โดยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งความสำเร็จของ ต.หนองสนิท ได้กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบ และสามารถต่อยอดขยายผลไปยัง 155 อปท. เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ของ สสส. ใน 46 จังหวัด เพื่อร่วมขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนสู่อาหารเพื่อสุขภาวะต่อไป